วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

คำนำ

จากสถานการณ์โลกเกิดภัยพิบัติมากมายจากสถานการณ์ภาวะโลกร้อน   หนึ่งในเหตุการณ์นั้นคือ  การเกิดแผ่นดินไหว   และการเกิดแผ่ยนดินไหวนี้เองก็ได้ก่อให้เกิดความเสียหายมากมาย  คณะผู้จัดทำจึงได้จัดทำโครงงานชิ้นนี้ขึ้นเพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบถึง  สาเหตุ   ของการเกิดแผ่นดินไหว  เพื่อที่จะได้เตรียมตัวและรับมือกับการเกิดแผ่นดินไหว   นอกจากนี้ยังมีวิธีการป้องกันตนเองจากเหตุร้ายครั้งนี้  และยังมีตัวอย่างการเกิดแผ่นดินไหวทั้งในประเทศ และต่างประเทศเพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบเกี่ยวกับสถานการณ์จริง   ทั้งนี้คณะผู้จัดทำหวังว่าผู้อ่านจะได้รับความรู้จากโครงงานเล่มนี้เป็นอย่างมาก

ความเป็นมา

   จากสถานการณ์โลกในปัจจุบัน  เราจะเห็นได้ว่าโลกของเราได้เกิดภัยพิบัติต่างๆมากมาย   ซึ่งนั่นก็เป็นผลมาจากสภาวะโลกร้อน  อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ต่างๆนั้นเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ทั้งสิ้น  ซึ่งหนึ่งในภัยพิบัติดังกล่าวที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ก็คือภัยพิบัติ แผ่นดินไหว  ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณแต่ในยุคปัจจุบันแผ่นดินไหวได้เกิดขึ้นบ่อยขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  แล้วก็ให้เกิดความเสียหายมากมายทั้งด้านทรัพย์สิน และชีวิต  จึงเป็นที่มาให้คณะผู้จัดทำได้จัดทำโครงงานเล่มนี้เพื่อบอกถึงสาเหตุ  และการป้องกันตัวจากเหตุแผ่นดินไหว ให้ผู้อ่านได้ทราบและนำมาใช้ในการปฏิบัติ

จุดมุ่งหมายของการศึกษา

1.   เพื่อทราบถึงถึงต้นกำเนิดและสาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหว
2.   เพื่อทราบถึงผลกระทบที่จะได้รับจากการเกิดแผ่นดินไหว
3.   เพื่อทราบถึงการป้องกันภัยในเวลาที่เกิดแผ่นดินไหว
4.   เพื่อเป็นข้อมูลในการศึกษาค้นคว้าเรื่องแผ่นดินไหวให้ผู้อื่น



      เรื่อง  แผ่นดินไหว

แผ่นดินไหว เป็นปรากฏการณ์การสั่นสะเทือนหรือเขย่าของพื้นผิวโลก เพื่อปรับตัวให้อยู่ในสภาวะสมดุล ซึ่งแผ่นดินไหวสามารถก่อให้เกิดความเสียหายและภัยพิบัติต่อบ้านเมือง ที่อยู่อาศัย สิ่งมีชีวิต ส่วนสาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหวนั้นส่วนใหญ่เกิดจากธรรมชาติ โดยแผ่นดินไหวบางลักษณะสามารถเกิดจากการกระทำของมนุษย์ได้ แต่มีความรุนแรงน้อยกว่าที่เกิดขึ้นเองจากธรรมชาติ นักธรณีวิทยาประมาณกันว่าในวันหนึ่ง ๆ จะเกิดแผ่นดินไหวประมาณ 1,000 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแผ่นดินไหวที่มีการสั่นสะเทือนเพียงเบา ๆ เท่านั้น คนทั่วไปไม่รู้สึก
แผ่นดินไหวเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก (แนวระหว่างรอยต่อธรณีภาค) ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของชั้นหินขนาดใหญ่เลื่อน เคลื่อนที่ หรือแตกหักและเกิดการโอนถ่ายพลังงานศักย์ ผ่านในชั้นหินที่อยู่ติดกัน พลังงานศักย์นี้อยู่ในรูปคลื่นไหวสะเทือน จุดศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหว (focus) มักเกิดตามรอยเลื่อน อยู่ในระดับความลึกต่าง ๆ ของผิวโลก เท่าที่เคยวัดได้ลึกสุดอยู่ในชั้นแมนเทิล
ส่วนจุดที่อยู่ในระดับสูงกว่า ณ ตำแหน่งผิวโลก เรียกว่า "จุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหว" (epicenter) การสั่นสะเทือนหรือแผ่นดินไหวนี้จะถูกบันทึกด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า ไซสโมกราฟ โดยการศึกษาเรื่องแผ่นดินไหวและคลื่นสั่นสะเทือนที่ถูกส่งออกมา จะเรียกว่า "วิทยาแผ่นดินไหว"




                                                        ศูนย์กลางแผ่นดินไหว พ.ศ. 2506-2541
แหล่งกำเนิด

แผ่นเปลือกโลกแต่ละแผ่นจะมีความหนาต่างกัน โดยบางแผ่นมีความหนาถึง 70 กิโลเมตร ในขณะที่บางแผ่น เช่น ส่วนที่อยู่ใต้มหาสมุทร จะมีความหนาเพียง 6 กิโลเมตร นอกจากนี้แผ่นเปลือกโลกแต่ละแห่งยังมีส่วนประกอบทางกายภาพและทางเคมีที่แตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่แยกออกจากกันหรือชนกัน จะทำให้เกิดการสั่นสะเทือน ที่มีความรุนแรงมากน้อยต่างกัน
แหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวหรือบริเวณตำแหน่งศูนย์กลางแผ่นดินไหว จะอยู่ที่บริเวณขอบของแผ่นเปลือกโลก โดย 80 เปอร์เซ็นของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น จะเกิดรอบ ๆ มหาสมุทรแปซิฟิก หรือที่รู้จักกันในชื่อ "วงแหวนแห่งไฟ" (Ring of Fire) 
     ส่วนเขตเกิดแผ่นดินไหวอื่น ๆ นอกจากแนววงแหวนแห่งไฟแล้ว มักจะเกิดในบริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ผ่านแถบประเทศแถบยุโรปตอนใต้ เช่น อิตาลี กรีซ จนถึงแถบอนาโตเลีย ซึ่งคือประเทศตุรกี ผ่านบริเวณตะวันออกกลาง จนถึงเทือกเขาหิมาลัย บริเวณประเทศอัฟกานิสถาน ปากีสถาน จีน และพม่า แต่อย่างไรก็ตาม เคยเกิดแผ่นดินไหวในประเทศอังกฤษ ซึ่งไม่ได้ตั้งอยู่ในแนวรอยเลื่อนขนาดใหญ่ แต่เป็นเพียงแผ่นดินไหวขนาดเล็กเท่านั้น




สาเหตุการเกิดแผ่นดินไหว

แผ่นดินไหวจากธรรมชาติ


ความเสียหายของอาคารจากแผ่นดินไหวที่โกเบ เมื่อ พ.ศ. 2538
           แผ่นดินไหวจากธรรมชาติเป็นธรณีพิบัติภัยชนิดหนึ่ง ส่วนมากเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของพื้นดิน อันเนื่องมาจากการปลดปล่อยพลังงานเพื่อระบายความเครียด ที่สะสมไว้ภายในโลกออกมาอย่างฉับพลันเพื่อปรับสมดุลของเปลือกโลกให้คงที่ โดยปกติเกิดจากการเคลื่อนไหวของรอยเลื่อน ภายในชั้นเปลือกโลกที่อยู่ด้านนอกสุดของโครงสร้างของโลก มีการเคลื่อนที่หรือเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ อยู่เสมอ (ดู การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก) แผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นเมื่อความเค้นอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงมีมากเกินไป ภาวะนี้เกิดขึ้นบ่อยในบริเวณขอบเขตของแผ่นเปลือกโลก ที่ที่แบ่งชั้นเปลือกโลกออกเป็นธรณีภาค (lithosphere) เรียกแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบริเวณขอบเขตของแผ่นเปลือกโลกนี้ว่า แผ่นดินไหวระหว่างแผ่น (interplate earthquake) ซึ่งเกิดได้บ่อยและรุนแรงกว่า แผ่นดินไหวภายในแผ่น (intraplate earthquake)



แผ่นดินไหวจากการกระทำของมนุษย์

มีทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การระเบิด การทำเหมือง สร้างอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนใกล้รอยเลื่อน การทำงานของเครื่องจักรกล การจราจร รวมถึงการเก็บขยะนิวเคลียร์ไว้ใต้ดิน เป็นต้น
  • การสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งอาจพบปัญหาการเกิดแผ่นดินไหว เนื่องจากน้ำหนักของน้ำในเขื่อนกระตุ้นให้เกิดการปลดปล่อยพลังงาน ทำให้สภาวะความเครียดของแรงในบริเวณนั้นเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งทำให้แรงดันของน้ำเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดพลังงานต้านทานที่สะสมตัวในชั้นหิน เรียกแผ่นดินไหวลักษณะนี้ว่า แผ่นดินไหวท้องถิ่น ส่วนมากจะมีศูนย์กลางอยู่ที่ระดับความลึก 5-10 กิโลเมตร ขนาดและความถี่ของการเกิดแผ่นดินไหวจะลดลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งเข้าสู่ภาวะปกติ รายงานการเกิดแผ่นดินไหวในลักษณะเช่นนี้เคยมีที่ เขื่อนฮูเวอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2488 แต่มีความรุนแรงเพียงเล็กน้อย เขื่อนการิบา ประเทศซิมบับเว เมื่อ พ.ศ. 2502 เขื่อนครีมัสต้า ประเทศกรีซ เมื่อ พ.ศ. 2506 และครั้งที่มีความรุนแรงครั้งหนึ่งเกิดจากเขื่อนคอยน่า ในประเทศอินเดีย เมื่อ พ.ศ. 2508 ซึ่งมีขนาดถึง 6.5 ริกเตอร์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 180 คน
  • การทำเหมืองในระดับลึก ซึ่งในการทำเหมืองจะมีการระเบิดหิน ซึ่งอาจทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนขึ้นได้
  • การสูบน้ำใต้ดิน การสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้มากเกินไป รวมถึงการสูบน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ ซึ่งอาจทำให้ชั้นหินที่รองรับเกิดการเคลื่อนตัวได้
  • การทดลองระเบิดนิวเคลียร์ใต้ดิน ก่อให้เกิดความสั่นสะเทือนจากการทดลองระเบิด ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดผลกระทบต่อชั้นหินที่อยู่ใต้เปลือกโลกได้ 
คลื่นแผ่นดินไหว หรือคลื่นไหวสะเทือน (อังกฤษ: seismic waves) ถูกแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1.             คลื่นในตัวกลาง เป็นคลื่นที่มีลักษณะแผ่กระจายเป็นวงรอบๆจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว       แบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ
§  คลื่นปฐมภูมิ (คลื่น P) คลื่นตามยาว อนุภาคของคลื่นชนิดนี้เคลื่อนที่ในแนวทิศทางการเคลื่อนที่ของคลื่น สามารถผ่านได้ในตัวกลางทุกสถานะ
§  คลื่นทุติยภูมิ (คลื่น S) คลื่นตามขวาง อนุภาคของคลื่นมีทิศตั้งฉากกับทิศคลื่นเคลื่อนที่ ผ่านได้ในตัวกลางสถานะของแข็ง
2.             คลื่นพื้นผิว เป็นคลื่นที่แผ่จากจุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหว มี 2 ชนิด
§  คลื่นเลิฟ (Wave of Love : Love wave) เป็นคลื่นที่อนุภาคสั่นในแนวราบ มีทิศทางตั้งฉากกับการเคลื่อนที่ของคลื่น
§  คลื่นเรลีย์ (Wave of Rayleigh : Rayleigh wave) อนุภาคในคลื่นนี้สั่นเป็นรูปรี ในทิศทางการเคลื่อนที่ของคลื่น เป็นสาเหตุทำให้พื้นโลกสั่นขึ้น

ขนาดและความรุนแรง


ขนาดของแผ่นดินไหว หมายถึง จำนวนหรือปริมาณของพลังงานที่ถูกปล่อยออกมาจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวในแต่ละครั้ง การหาค่าขนาดของแผ่นดินไหวทำได้โดยวัดความสูงของคลื่นแผ่นดินไหวที่บันทึกได้ด้วยเครื่องตรวดวัดแผ่นดินไหว แล้วคำนวณจากสูตรการหาขนาด ซึ่งคิดค้นโดย ชาลส์ ฟรานซิส ริกเตอร์ และนิยมใช้หน่วยวัดขนาดของแผ่นดินไหวคือ "ริกเตอร์" โดยสูตรการคำนวณมีดังนี้



กำหนดให้
M = ขนาดของแผ่นดินไหว (ริกเตอร์)
A = ความสูงของคลื่นแผ่นดินไหวที่สูงที่สุด
 = ความสูงของคลื่นแผ่นดินไหวที่ระดับศูนย์
โดยขนาดของแผ่นดินไหว ในแต่ละระดับจะปล่อยพลังงานมากกว่า 30 เท่าของขนาดก่อนหน้า เช่น 4 กับ 5 ริกเตอร์ แผ่นดินไหวขนาด 5 ริกเตอร์จะปล่อยพลังงานออกมามากกว่า 4 ริกเตอร์ 30 เท่า, แผ่นดินไหวขนาด 7 ริกเตอร์จะปล่อยพลังงานออกมามากกว่า 5 ริกเตอร์ = 30x30 = 900 เท่า เป็นต้น
ความรุนแรงของแผ่นดินไหว (อังกฤษ: Intensity) ที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงที่รู้สึกได้มากน้อยเพียงใด และขึ้นอยู่กับระยะทางจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว ความเสียหายจะเกิดขึ้นในบริเวณใกล้เคียงกับศูนย์กลางแผ่นดินไหว และจะลดหลั่นลงไปตามระยะทางที่ห่างออกไป ดังนั้น การสูญเสียจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของแผ่นดินไหวโดยตรง สำหรับการวัดขนาดของแผ่นดินไหวมีหลายวิธี เช่น มาตราวัดขนาดของแผ่นดินไหวแบบริกเตอร์ และแบบเมอร์แคลลี่

มาตราริกเตอร์

ขนาดและความสัมพันธ์ของขนาดโดยประมาณกับความสั่นสะเทือนใกล้ศูนย์กลาง


ริกเตอร์
ความรุนแรง
ลักษณะที่ปรากฏ
1 - 2.9
เล็กน้อย
ผู้คนเริ่มรู้สึกถึงการมาของคลื่น มีอาการวิงเวียนเพียงเล็กน้อยในบางคน
3 - 3.9
เล็กน้อย
ผู้คนที่อยู่ในอาคารรู้สึกเหมือนมีอะไรมาเขย่าอาคารให้สั่นสะเทือน
4 - 4.9
ปานกลาง
ผู้ที่อาศัยอยู่ทั้งภายในอาคาร และนอกอาคาร รู้สึกถึงการ สั่นสะเทือน วัตถุห้อยแขวนแกว่งไกว
5 - 5.9
รุนแรง
เครื่องเรือน และวัตถุมีการเคลื่อนที่
6 - 6.9
รุนแรงมาก
อาคารเริ่มเสียหาย พังทลาย
7.0 ขึ้นไป
รุนแรงมากมาก
เกิดการสั่นสะเทือนอย่างมากมาย ส่งผลทำให้อาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เสียหายอย่างรุนแรง แผ่นดินแยก วัตถุบนพื้นถูกเหวี่ยงกระเด็น




มาตราเมร์กัลป์ลี      

  อันดับที่และลักษณะความรุนแรงโดยเปรียบเทียบ


เมร์กัลลี
ลักษณะที่ปรากฏ
I.
อ่อนมาก ผู้คนไม่รู้สึก ต้องทำการตรวจวัดด้วยเครื่องมือเฉพาะทางเท่านั้น
II.
คนที่อยู่ในตึกสูง ๆ เริ่มรู้สึกเพียงเล็กน้อย
III.
คนในบ้านเริ่มรู้สึก แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้สึก
IV.
ผู้อยู่ในบ้านรู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างมาทำให้บ้านสั่นเบา ๆ
V.
คนส่วนใหญ่รู้สึก ของเบาในบ้านเริ่มแกว่งไกว
VI.
คนส่วนใหญ่รู้สึก ของหนักในบ้านเริ่มแกว่งไหว
VII.
คนตกใจ สิ่งก่อสร้างเริ่มมีรอยร้าว
VIII.
อาคารธรรมดาเสียหายอย่างมาก
IX.
สิ่งก่อสร้างที่ออกแบบไว้อย่างดีตามหลักวิศวกรรม เสียหายมาก
X.
อาคารพัง รางรถไฟงอเสียหาย
XI.
อาคารสิ่งก่อสร้างพังทลายเกือบทั้งหมด ผิวโลกปูดนูนและเลื่อนเป็นคลื่นบน พื้นดินอ่อน
XII.
ทำลายหมดทุกอย่าง มองเห็นเป็นคลื่นบนแผ่นดิน


การพยากรณ์แผ่นดินไหว

แผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่ยังไม่สามารถพยากรณ์ได้อย่างแม่นยำ ทั้งตำแหน่ง ขนาด และเวลาเกิด แม้ว่าในปัจจุบันจะมีเทคโนโลยี เครื่องมือตรวจวัดที่ทันสมัย แต่อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์พยายามศึกษา วิเคราะห์ถึงลักษณะต่าง ๆ ของแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว โดยอาศัยจากการสังเกตสิ่งต่อไปนี้
ลักษณะทางกายภาพของเปลือกโลก เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงจากสภาพปกติก่อนการเกิดแผ่นดินไหว เช่น
แรงเครียดในเปลือกโลกเพิ่มขึ้น โดยใต้ผิวโลกจะมีความร้อนสูงกว่าบนผิวโลก จึงทำให้เปลือกโลกเกิดการขยายตัว หดตัวไม่สม่ำเสมอ โดยที่เปลือกโลกส่วนล่างจะมีการขยายตัวมากกว่า
การเปลี่ยนแปลงของสนามไฟฟ้า สนามแม่เหล็ก และแรงโน้มถ่วงของโลก
การเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก
น้ำใต้ดินมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากมีการเคลื่อนไหวและการขยายตัวของเปลือกโลกใต้ชั้นหินรองรับน้ำ

ปริมาณแก๊สเรดอนเพิ่มขึ้น
การสังเกตพฤติกรรมของสัตว์ สัตว์หลายชนิดมีการรับรู้และมักแสดงท่าทางออกมาก่อนเกิดแผ่นดินไหว อาจจะรู้ล่วงหน้าเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันก็ได้ เช่น
สัตว์เลี้ยง สัตว์บ้านทั่วไปตื่นตกใจ เช่น สุนัข เป็ด ไก่ หมู หมี
แมลงสาบจำนวนมากวิ่งเพ่นพ่าน
หนู งู วิ่งออกมาจากที่อาศัย ถึงแม้ในบางครั้งจะเป็นช่วงฤดูจำศีลของพวกมัน
ปลากระโดดขึ้นมาจากผิวน้ำ
บริเวณที่เกิดแผ่นดินไหว ถ้าบริเวณใดเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง โอกาสเกิดแผ่นดินไหวก็มีตามมาอีก และถ้าสถานที่นั้นเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดรุนแรง ก็มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวซ้ำขึ้นอีกเช่นกัน นอกจากนี้บริเวณที่มีภูเขาไฟระเบิดมักจะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้นก่อนหรือหลังภูเขาไฟระเบิดได้

ข้อปฏิบัติในการป้องกันและบรรเทาภัยจากแผ่นดินไหว
ก่อนเกิดแผ่นดินไหว
-เตรียมเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น เช่น ถ่านไฟฉาย ไฟฉาย อุปกรณ์ดับเพลิง น้ำดื่ม น้ำใช้ อาหารแห้ง ไว้ใช้ในกรณีไฟฟ้าดับหรือกรณีฉุกเฉินอื่น ๆ
-จัดหาเครื่องรับวิทยุ ที่ใช้ถ่านไฟฉายหรือแบตเตอรี่ สำหรับเปิดฟังข่าวสารคำเตือน คำแนะนำและสถานการณ์ต่าง ๆ
-เตรียมอุปกรณ์นิรภัย สำหรับการช่วยชีวิต
-เตรียมยารักษาโรค และเวชภัณฑ์ให้พร้อมที่จะใช้ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
-จัดให้มีการศึกษาถึงการปฐมพยาบาล เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ หรืออันตรายให้พ้นขีดอันตรายก่อนที่จะถึงมือแพทย์
-จำตำแหน่งของวาล์ว เปิด-ปิดน้ำ ตำแหน่งของสะพานไฟฟ้า เพื่อตัดตอนการส่งน้ำ และไฟฟ้า
-ยึดเครื่องเรือน เครื่องใช้ไม้สอย ภายในบ้าน ที่ทำงาน และในสถานศึกษาให้ความมั่นคงแน่นหนา ไม่โยกเยกโคลงแคลงไปทำความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน
-ไม่ควรวางสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก ๆ ไว้ในที่สูง เพราะอาจร่วงหล่นมาทำความเสียหายหรือเป็นอันตรายได้
-เตรียมการอพยพเคลื่อนย้าย หากถึงเวลาที่จะต้องอพยพ
-วางแผนป้องกันภัยสำหรับครอบครัว ที่ทำงาน และสถานที่ศึกษา มีการชี้แจงบทบาทที่สมาชิกแต่ละบุคคลจะต้องปฏิบัติ มีการฝึกซ้อมแผนที่จัดทำไว้ เพื่อเพิ่มลักษณะและความคล่องตัวในการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน

ขณะเกิดแผ่นดินไหว

§  ตั้งสติ อยู่ในที่ที่แข็งแรงปลอดภัย ห่างจากประตู หน้าต่าง สายไฟฟ้า เป็นต้น
§  ปฏิบัติตามคำแนะนำ ข้อควรปฏิบัติของทางราชการอย่างเคร่งครัด ไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป
§  ไม่ควรทำให้เกิดประกายไฟ เพราะหากมีการรั่วซึมของแก๊สหรือวัตถุไวไฟ อาจเกิดภัยพิบัติจากไฟไหม้ ไฟลวก ซ้ำซ้อนกับแผ่นดินไหวเพิ่มขึ้นอีก
§  เปิดวิทยุรับฟังสถานการณ์ คำแนะนำคำเตือนต่าง ๆ จากทางราชการอย่างต่อเนื่อง
§  ไม่ควรใช้ลิฟต์ เพราะหากไฟฟ้าดับอาจมีอันตรายจากการติดอยู่ภายใต้ลิฟต์
§  มุดเข้าไปนอนใต้เตียงหรือตั่ง อย่าอยู่ใต้คานหรือที่ที่มีน้ำหนักมาก
§  อยู่ใต้โต๊ะที่แข็งแรง เพื่อป้องกันอันตรายจากสิ่งปรักหักพังร่วงหล่นลงมา
§  อยู่ห่างจากสิ่งที่ไม่มั่นคงแข็งแรง
§  ให้รีบออกจากอาคารเมื่อมีการสั่งการจากผู้ที่ควบคุมแผนป้องกันภัย หรือผู้ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้
§  หากอยู่ในรถ ให้หยุดรถจนกว่าแผ่นดินจะหยุดไหวหรือสั่นสะเทือนหลังเกิดแผ่นดินไหว
§  ตรวจเช็คการบาดเจ็บ และการทำการปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน เพื่อให้แพทย์ได้ทำการรักษาต่อไป
§  ตรวจเช็คระบบน้ำ ไฟฟ้า หากมีการรั่วซึมหรือชำรุดเสียหาย ให้ปิดวาล์ว เพื่อป้องกันน้ำท่วมเอ่อ ยกสะพานไฟฟ้า เพื่อป้องกันไฟฟ้ารั่ว ไฟฟ้าดูด หรือไฟฟ้าช็อต
§  ตรวจเช็คระบบแก๊ส โดยวิธีการดมกลิ่นเท่านั้น หากพบว่ามีการรั่วซึมของแก๊ส (มีกลิ่น) ให้เปิดประตูหน้าต่าง แล้วออกจากอาคาร แจ้งเจ้าหน้าที่ป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนผู้ที่รับผิดชอบได้ทราบในโอกาสต่อไป
§  เปิดฟังข่าวสารและปฏิบัติตามคำแนะนำ จากทางราชการโดยตลอด
§  ไม่ใช้โทรศัพท์โดยไม่จำเป็น
§  อย่ากดน้ำล้างส้วม จนกว่าจะมีการตรวจเช็คระบบท่อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะอาจเกิดการแตกหักของท่อในส้วม ทำให้น้ำท่วมเอ่อหรือส่งกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์

ความเสียหายของถนนจากแผ่นดินไหวในจูเอ็ทสึ พ.ศ. 2547

ผลกระทบ

          ผลกระทบจากแผ่นดินไหว มีทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ทำให้เกิดพื้นดินแตกแยก ภูเขาไฟระเบิด อาคารสิ่งก่อสร้างพังทลาย ไฟไหม้ แก๊สรั่ว ท่อระบายน้ำและท่อประปาแตก คลื่นสึนามิ แผ่นดินถล่ม เส้นทางการคมนาคมเสียหายและถูกตัดขาด ถนนและทางรถไฟบิดเบี้ยวโค้งงอ เกิดโรคระบาด ปัญหาด้านสุขภาพจิตของผู้ประสบภัย ความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงทางเศรษฐกิจ เช่น การสื่อสารโทรคมนาคมขาดช่วง ระบบคอมพิวเตอร์ขัดข้อง การคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศหยุดชะงัก ประชาชนตื่นตระหนก ซึ่งมีผลต่อการลงทุน การประกันภัย และในกรณีที่แผ่นดินไหวมีความรุนแรงมาก เมืองทั้งเมืองอาจถูกทำลายหมด และมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากถ้าแผ่นดินไหวเกิดขึ้นใต้ทะเล แรงสั่นสะเทือนอาจจะทำให้เกิดเป็นคลื่นขนาดใหญ่ที่เรียกว่า "สึนามิ" (ญี่ปุ่น: 津波, Tsunami) มีความเร็วคลื่น 600-800 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในทะเลเปิด ส่วนใหญ่คลื่นจะมีความสูงไม่เกิน 1 เมตร และสังเกตได้ยาก แต่จะมีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อเคลื่อนถึงใกล้ชายฝั่ง โดยอาจมีความสูงถึง 60 เมตร สามารถก่อให้เกิดน้ำท่วม สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงกับสิ่งก่อสร้างที่ติดอยู่ชายฝั่งทะเล










คลื่นสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหว ที่อ่าวนาง จังหวัดกระบี่ เมื่อ พ.ศ. 2547





การป้องกันความเสียหาย
   ในปัจจุบันมีการสร้างอาคาร ตึกระฟ้าใหม่ ๆ บนหินแข็งในเขตแผ่นดินไหว อาคารเหล่านั้นจะใช้โครงสร้างเหล็กกล้าที่แข็งแรงและขยับเขยื้อนได้ มีประตูและหน้าต่างน้อยแห่ง บางแห่งก็มุงหลังคาด้วยแผ่นยางหรือพลาสติกแทนกระเบื้อง ป้องกันการตกลงมาของกระเบื้องแข็งทำให้ผู้คนบาดเจ็บ ถนนมักจะสร้างให้กว้างเพื่อว่าเมื่อเวลาตึกพังลงมาจะได้ไม่กีดขวางทางจราจร และยังมีการสร้างที่ว่างต่าง ๆ ในเมือง เช่น สวนสาธารณะ ซึ่งผู้คนสามารถจะไปหลบภัยให้พ้นจากการถล่มของอาคารบ้านเรือนได้

ความเชื่อในสมัยโบราณ
คนในสมัยโบราณมีความเชื่อว่าแผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟระเบิด เกิดจากฝีมือของเทพเจ้าหรือสิ่งเหนือธรรมชาติ เช่น ชาวโรมันโบราณคิดว่าเทพเจ้าที่ชื่อว่า วัลแคน อาศัยอยู่ในภูเขาไฟ เทพองค์นี้ทรงเป็นช่างตีเหล็กให้กับเทพเจ้าองค์อื่น ๆ เมื่อใดที่มีควันและเปลวไฟพุ่งออกมาจากภูเขาไฟ ชาวโรมันก็คิดว่าเทพเจ้าวัลแคนกำลังติดไฟในเตาหลอมอยู่ และเมื่อแผ่นดินสั่นสะเทือนก็หมายถึงว่าเทพเจ้าวัลแคนกำลังตีเหล็กหลอมอยู่บนทั่ง
ชาวกรีกโบราณเชื่อว่าเทพเจ้าองค์หนึ่ง มีชื่อว่า โพไซดอน เป็นผู้ที่ก่อให้เกิดแผ่นดินไหว เทพเจ้าโพไซดอนมีรูปร่างขนาดใหญ่ เมื่อพิโรธก็จะกระทืบเท้า ทำให้เกิดแผ่นดินไหว ส่วนชาวฮินดูในประเทศอินเดียเชื่อว่าโลกของเราตั้งอยู่บนถาดทองคำซึ่งวางอยู่บนหลังช้างหลายเชือกติดกัน เมื่อใดที่ช้างเคลื่อนไหว โลกก็จะสั่นสะเทือนไปด้วย และเกิดเป็นแผ่นดินไหว ส่วนคนญี่ปุ่นเชื่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณว่า มีปลาดุกยักษ์อยู่ใต้พื้นดิน และเมื่อใดที่ปลาดุกยักษ์พลิกตัวหรือขยับเขยื้อนแต่ละครั้ง ก็จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวความเชื่อของคนไทยโบราณคล้ายคลึงกับคนญี่ปุ่นแต่เปลี่ยนเป็นปลาอานนท์ใต้เขาพระสุเมรุผลิกตัว

สถานที่ที่เกิดแผ่นดินไหว

        แผ่นดินไหวในเฮติ พ.ศ. 2553 เป็นเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหว ซึ่งมีความรุนแรง 7.0 ตามมาตราขนาดโมเมนต์ โดยศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากกรุงปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวงของประเทศเฮติ ไปราว 25 กิโลเมตร แผ่นดินไหวเกิดขึ้นเมื่อเวลา 16:53 น. ตามเวลาท้องถิ่น (21:53 น. ตามเวลาสากลเชิงพิกัด) ของวันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2553[5] หรือตรงกับเวลา 04.53 นาฬิกา ในเช้าวันพุธที่ 13 มกราคม ตามเวลาประเทศไทย   จนถึงวันที่ 24 มกราคม ได้บันทึกว่าเกิดอาฟเตอร์ช็อกซึ่งวัดขนาดความรุนแรงได้กว่า 4.5 หรือมากกว่า เมือ่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ได้มีการประมาณว่ามีผู้ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวมากกว่า 3 ล้านคน; รัฐบาลเฮติรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตระหว่าง 217,000 และ 230,000 คน ประมาณการผู้ได้รับบาดเจ็บ 300,000 คน และอีก 1,000,000 ไม่มีที่อยู่อาศัย โดยยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมดคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น    นอกจากนี้รัฐบาลยังประมาณว่ามีบ้านเรือน 250,000 หลัง และอาคารพาณิชย์อีกกว่า 30,000 หลัง พังทลายหรือเสียหายอย่างหนัก[9]
หลายประเทศได้ตอบสนองต่อเหตุการณ์ภัยพิบัติด้วยการส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม รับประกันที่จะส่งเงินสนับสนุนและส่งทีมกู้ภัยและทีมแพทย์ วิศวกร และพนักงานช่วยเหลือ ระบบการสื่สาร สิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่งทางอากาศ ทางบก และทางน้ำ โรงพยาบาล และเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว ซึ่งขัดขวางความพยายามช่วยชีวิตและให้การสนับสนุน; ความสับสนที่ว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบ ความคับคั่งของการจราจรทางอากาศ และปัญหาเกี่ยวกับการลำดับก่อนหลังของเที่ยวบิน ยิ่งทำให้การช่วยเหลือในช่วงแรกยิ่งซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อวันที่ 22 มกราคม สหประชาชาติได้หมายเหตุว่าช่วงเวลาฉุกเฉินของปฏิบัติการกู้ภัยใกล้จะหมดลงแล้ว และในวันต่อมา รัฐบาลเฮติประกาศยกเลิกการค้นหาผู้รอดชีวิตเพิ่มเติม


ลักษณะทางธรณีวิทยา


ประเทศเฮติตั้งอยู่บนรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกแคริบเบียน และแผ่นอเมริกาเหนือ แต่แผ่นดินไหวในครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกเหล่านี้ แต่เกิดจากรอยเลื่อน ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนักโดยเฉพาะเมืองหลวง กรุงปอร์โตแปรงซ์ สาเหตุเป็นเพราะว่าเมืองตั้งอยู่ในบริเวณอ่าว ซึ่งดินบริเวณอ่าวจะเป็นดินอ่อนมีลักษณะเป็นโคลนชุ่มด้วยน้ำ (เช่นเดียวกับในกรุงเทพมหานคร) ซึ่งสามารถขยายแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวให้รุนแรงขึ้นได้

แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง เช่น อาคารบ้านเรือนพังพินาศจำนวนมาก รวมทั้งทำเนียบประธานาธิบดี, อาคารรัฐสภา, กระทรวงการคลัง, กระทรวงแรงงาน, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงวัฒนธรรม, สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ, อาคารสถานทูต, โรงเรียน, โรงแรมและโรงพยาบาล ที่พังถล่มลงมาทับผู้คน รวมถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่เสียหายอย่างหนัก โดยนายปัน กีมุน เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่า "แผ่นดินไหวที่เฮติถือเป็นหายนะครั้งรุนแรงที่สุดเท่าที่องค์กรนานาชาติเคยประสบมา"
กระทรวงกิจการภายในของเฮติออกแถลงการณ์ว่า ได้รับคำยืนยันมีผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงเป็นจำนวนกว่า 110,000 คนแล้ว โดยตัวเลขล่าสุดจำนวนผู้เสียชีวิตนับตั้งแต่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 12 ..เป็นต้นมา คือ 111,499 คน
ตัวเลขผู้เสียชีวิตดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากที่เคยประเมินไว้ว่ามีอย่างน้อย 500,000 คน ส่วนผู้บาดเจ็บจากแผ่นดินไหวมี 193,891 คน และอีกกว่า 609,000 คน ต้องอาศัยอยู่ในค่ายพักชั่วคราว 500 แห่ง เจ้าหน้าที่เฮติแสดงความวิตกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตอาจทะลุ 200,000 คน

แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮะกุ .. 2554

แผ่นดินไหวนอกชายฝั่งแปซิฟิกโทโฮะกุ .. 2554 (ญี่ปุ่น: 東北地方太平洋沖地震 Tōhoku Chihō Taiheiyō-oki Jishin ) เป็นแผ่นดินไหวเมกะทรัสต์เกิดใต้ทะเล ขนาด 9.0 แมกนิจูด นอกชายฝั่งญี่ปุ่น เกิดขึ้นเมื่อเวลา 14.46 . ตามเวลามาตรฐานญี่ปุ่น (05:46 UTC) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม .. 2554 จุดเหนือศูนย์กลางแผ่นดินไหวมีรายงานว่า อยู่นอกชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรโอชิกะ โทโฮะกุ โดยมีจุดเกิดแผ่นดินไหวอยู่ลึกลงไปใต้พื้นดิน 32 กิโลเมตร  นับเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในห้าแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดของโลกเท่าที่มีการบันทึกสมัยใหม่มาตั้งแต่ .. 2443 และก่อให้เกิดคลื่นสึนามิทำลายล้างซึ่งสูงที่สุดถึง 40.5 เมตร ในมิยาโกะ อิวาเตะ โทโฮะกุ  บางพื้นที่พบว่าคลื่นได้พัดพาลึกเข้าไปในแผ่นดินลึกถึง 14 กิโลเมตร และมีคลื่นที่เล็กกว่าพัดไปยังอีกหลายประเทศหลายชั่วโมงหลังจากนั้น ได้มีการประกาศเตือนภัยสึนามิและคำสั่งอพยพตามชายฝั่งด้านแปซิฟิกของญี่ปุ่นและอีกอย่างน้อย 20 ประเทศ รวมทั้งชายฝั่งแปซิฟิกทั้งหมดของประเทศอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ ซึ่งนอกเหนือไปจากการสูญเสียชีวิตและการทำลายล้างโครงสร้างพื้นฐานของญี่ปุ่นแล้ว คลื่นสึนามิดังกล่าวยังก่อให้เกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ขึ้น ซึ่งหลัก เป็นอุบัติเหตุแกนปฏิกรณ์ปรมาณูหลอมละลายระดับ 7 ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ และการกำหนดพื้นที่อพยพได้มีผลกระทบถึงราษฎรนับหลายแสนคน แผ่นดินไหวดังกล่าวรุนแรงเสียจนทำให้เกาะฮอนชูเลื่อนไปทางตะวันออก 2.4 เมตร พร้อมกับเคลื่อนแกนหมุนของโลกไปเกือบ 10 เซนติเมตร
นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นะโอะโตะ คัง กล่าวว่า "ในช่วงเวลาหกสิบห้าปีนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง วิกฤตการณ์ครั้งนี้นับว่าร้ายแรงและยากลำบากที่สุดสำหรับญี่ปุ่น" สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 15,729 ราย บาดเจ็บ 5,719 ราย และสูญหาย 4,539 ราย ในพื้นที่สิบแปดจังหวัด เช่นเดียวกับอาคารที่ถูกทำลายหรือได้รับความเสียหายกว่า 125,000 หลังแผ่นดินไหวครั้งนี้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งความเสียหายอย่างหนักต่อถนนและรางรถไฟ เช่นเดียวกับเหตุเพลิงไหม้ในหลายพื้นที่ และเขื่อนแตก บ้านเรือนราว 4.4 ล้านหลังคาเรือนทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ และอีก 1.5 ล้านคนไม่มีน้ำใช้ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าหลายเครื่องไม่สามารถใช้การได้ และเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์อย่างน้อยสามเครื่องได้รับความเสียหาย เนื่องจากแก๊สไฮโดรเจนที่เกิดขึ้นในอาคารคลุมเครื่องปฏิกรณ์ชั้นนอก และยังได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิเกิดระเบิดขึ้นเกือบ 24 ชั่วโมงหลังเหตุแผ่นดินไหวครั้งแรก อย่างไรก็ตาม แรงระเบิดในพื้นที่ไม่รวมสารกัมมันตรังสีอยู่ด้วย ประชาชนซึ่งอยู่อาศัยในรัศมี 20 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิและรัศมี 10 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดนิถูกสั่งอพยพ
ประมาณการความเสียหายเบื้องต้นเฉพาะที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวอย่างเดียว อยู่ระหว่าง 14,500 ถึง 34,600 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ธนาคารกลางญี่ปุ่นอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบอย่างน้อย 15 ล้านล้านเยน เมื่อวันที่ 14 มีนาคม .. 2554 เพื่อพยายามฟื้นฟูสภาพการตลาดให้กลับคืนสู่สภาพปกติ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ธนาคารโลกประมาณการความเสียหายระหว่าง 122,000 ถึง 235,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศว่ามูลค่าความเสียหายจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิอาจมีมูลค่าสูงถึง 309,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งทำให้มันเป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายมากที่สุดเท่าที่มีการบันทึกมา

แผ่นดินไห

แผ่นดินไหวดังกล่าวเกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกที่ระดับความลึกค่อนข้างน้อยเพียง 32 กิโลเมตร โดยศูนย์กลางแผ่นดินใหญ่อยู่ห่างจากคาบสมุทรโอชิกะ โทโฮะกุ ประมาณ 72 กิโลเมตร เป็นเวลาอย่างน้อยหกนาที  นครใหญ่ที่ใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่สุดคือ เซ็นได บนเกาะฮนชู เกาะหลักของญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว 130 กิโลเมตร กรุงโตเกียวอยู่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว 373 กิโลเมตร   แผ่นดินไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังแผ่นดินไหวนำอย่างรุนแรง และมีรายงานแผ่นดินไหวตามอีกหลายร้อยครั้งตามมา ฟอร์ช็อก (แผ่นดินไหวนำ) ใหญ่ครั้งแรกเป็นเหตุแผ่นดินไหวนำความรุนแรง 7.2 แมกนิจูด เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ห่างจากจุดที่เกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 11 มีนาคมไปอย่างน้อย 40 กิโลเมตร ตามด้วยฟอร์ช็อกอีกสามครั้งที่เกิดขึ้นในวันเดียวกัน ซึ่งล้วนแต่ความรุนแรงมากกว่า 6 แมกนิจูด หลังเกิดแผ่นดินไหว อาฟเตอร์ช็อกความรุนแรง 7.0 แมกนิจูด ได้รับรายงานเมื่อเวลา 15.06 . (ตามเวลาท้องถิ่น) ตามด้วย 7.4 เมื่อเวลา 15.15 . และ 7.2 เมื่อเวลา 15.26 . อาฟเตอร์ช็อกมากกว่าแปดร้อยครั้งมีความรุนแรงมากกว่า 4.5 แมกนิจูดตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวหลัก อาฟเตอร์ช็อกเป็นไปตามกฎโอโมริ ซึ่งกล่าวว่า อัตราอาฟเตอร์ช็อกลดลงแปรผันตรงกับเวลาตั้งแต่แผ่นดินไหวหลัก ดังนั้น อาฟเตอร์ช็อกจึงเกิดขึ้นน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป แต่อาจเกิดขึ้นเรื่อย ๆ อีกหลายปี
หนึ่งนาทีก่อนผลกระทบจากแผ่นดินไหวจะรู้สึกได้ในกรุงโตเกียว ระบบแจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้า ซึ่งมีเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวมากกว่าหนึ่งพันตัวในญี่ปุ่น ได้ส่งคำเตือนออกอากาศทางโทรทัศน์เกี่ยวกับเหตุแผ่นดินไหวแก่ชาวญี่ปุ่นหลายล้านคน คลื่นเอสแผ่นดินไหว ซึ่งเคลื่อนที่ด้วยอัตราเร็ว 4 กิโลเมตรต่อวินาที จึงใช้เวลา 90 วินาทีในการเดินทาง 373 กิโลเมตรไปยังกรุงโตเกียว สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น เชื่อว่าระบบการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าสามารถช่วยหลายชีวิต คำเตือนต่อสาธารณชนถูกส่งไปราว 8 วินาทีหลังคลื่นพีแรกถูกตรวจจับ หรือ 31 วินาทีหลังเกิดแผ่นดินไหว อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงที่ประเมินไว้น้อยกว่าความเป็นจริงในบางพื้นที่ในคันโตและโทโฮะกุ
ตอนแรก USGS รายงานความรุนแรงของแผ่นดินไหวอยู่ที่ 7.9 แมกนิจูด แต่ปรับเพิ่มเป็น 8.8 และ 8.9 อย่างรวดเร็วและปรับเพิ่มอีกครั้งเป็น 9.0 แมกนิจูด

ธรณีวิทยา


แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นโดย    แผ่นแปซิฟิกมุดตัวลงใต้แผ่นเปลือกโลกใต้ฮนชูเหนือ ซึ่งแผ่นเปลือกโลกแผ่นใดที่เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้นนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในหมู่นักวิทยาศาสตร์ แผ่นแปซิฟิก ซึ่งเคลื่อนที่ด้วยอัตรา 8 ถึง 9 เซนติเมตรต่อปี ลาดลงไปใต้แผ่นเปลือกโลกซึ่งรองรับฮนชู และปลดปล่อยพลังงานออกมามหาศาล การเคลื่อนไหวนี้ดึงแผ่นเปลือกโลกที่อยู่ข้างบนลงจนกระทั่งเกิดความเครียดมากพอที่จะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้น การแตกทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นหลายเมตร แผ่นดินไหวความรุนแรงระดับนี้โดยปกติแล้วจะมีความยาวรอยเลื่อนอย่างน้อย 480 กิโลเมตร และมักเกิดขึ้นโดยมีพื้นผิวรอยแยกค่อนข้างตรงและยาว เพราะรอยต่อแผ่นเปลือกโลกและเขตมุดตัวในพื้นที่ของรอยเลื่อนไม่ตรง ความรุนแรงของแผ่นดินไหวครั้งนี้ที่เกิน 8.5 แมกนิจูดจึงผิดปกติ และสร้างความประหลาดใจแก่นักแผ่นดินไหววิทยาบางคน พื้นที่ศูนย์กลางแผ่นดินไหวขยายจากนอกชายฝั่งจังหวัดอิวะเตะไปจนถึงนอกชายฝั่งจังหวัดอิบาระกิ สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ว่า แผ่นดินไหวอาจทำให้เขตรอยเลื่อนแตกออกจากอิวะเตะถึงอิบะระกิ โดยมีความยาว 500 กิโลเมตร และกว้าง 200 กิโลเมตร การวิเคราะห์แสดงว่า แผ่นดินไหวนี้ประกอบด้วยชุดเหตุการณ์สามอย่างประกอบกัน แผ่นดินไหวอาจมีกลไกลคล้ายคลึงกับแผ่นดินไหวใหญ่ใน .. 1412 โดยมีขนาดคลื่นพื้นผิวที่ 8.6 ซึ่งได้ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่เช่นกัน แผ่นดินไหวใหญ่ที่ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิอื่น ถล่มพื้นที่ชายฝั่งซานริกุใน .. 2439 และ 2486การสั่นไหวที่รุนแรงถูกจัดให้อยู่ในระดับ 7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของมาตรความรุนแรงแผ่นดินไหวของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นในคุริฮาระ จังหวัดมิยะงิ ส่วนในจังหวัดอื่นอีกสามจังหวัด ได้แก่จังหวัดฟุกุชิมะ จังหวัดอิบะระกิ และจังหวัดโทะชิงิ ถูกบันทึกไว้ว่าอยู่ในระดับ 6 บนตามมาตราดังกล่าว ส่วนสถานีแผ่นดินไหวในจังหวัดอิวะเตะ จังหวัดกุมมะ จังหวัดไซตะมะ และจังหวัดชิบะ วัดความรุนแรงได้ในระดับ 6 ล่าง และ 5 บนในโตเกียวสำนักงานข้อมูลปริภูมิ (Geospatial Information Authority) ญี่ปุ่น รายงานการทรุดตัวของแผ่นดิน ที่วัดค่าโดยจีพีเอสจากค่าล่าสุดเมื่อวันที่ 14 เมษายน .. 2554 ที่ลดลงมากที่สุดคือ คาบสมุทรโอชิกะ จังหวัดมิยะงิ 1.2 เมตร ด้านนักวิทยาศาสตร์ว่า การทรุดตัวดังกล่าวเป็นการถาวร และจะส่งผลให้ชุมชนที่ประสบการทรุดตัวของแผ่นดินนี้จะเสี่ยงต่อภาวะอุทกภัยในช่วงน้ำขึ้นมากยิ่งขึ้น



พลังงาน

แผ่นดินไหวดังกล่าวปลดปล่อยพลังงานพื้นผิวออกมากว่า 1.9±0.5×1017 จูล ซึ่งประกอบด้วยพลังงานสั่นสะเทือนและสึนามิ ซึ่งเป็นเกือบสองเท่าของพลังงานที่ปลดปล่อยออกมาจากเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย .. 2547 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 230,000 คน หากสามารถใช้ประโยชน์จากพลังงานดังกล่าวได้ พลังงานคลื่นพื้นผิวจากแผ่นดินไหวนี้จะเพียงพอต่อนครขนาดลอสแองเจลลิสได้ทั้งปี  สำหรับพลังงานที่ปลดปล่อยออกมาทั้งหมด หรือที่รู้จักกันว่า โมเมนต์แผ่นดินไหว มีค่ามากกว่า 200,000 เท่าของพลังงานพื้นผิว และสามารถคำนวณได้อยู่ที่ 3.9×1022จูล น้อยกว่าแผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดียเมื่อ .. 2547 เล็กน้อย พลังงานดังกล่าวเท่ากับทีเอ็นที 9,320 กิกะตัน หรืออย่างน้อย 600 ล้านเท่าของพลังงานของระเบิดนิวเคลียร์ที่ถล่มฮิโรชิมา
สถาบันพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกาเปิดเผยตัวเลขซึ่งระบุว่าแผ่นดินไหวดังกล่าวสร้างความเร่งสูงสุดของพื้นดินอยู่ที่ 0.35 จี (3.43 ./วินาที²) ใกล้กับจุดเหนือศูนย์กลางแผ่นดินไหว จากการศึกษาโดยมหาวิทยาลัยโตเกียวชี้ว่าในบางพื้นที่มีค่าความเร่งสูงสุดเกินกว่า 0.5 จี (4.9 ./วินาที²)  ด้านสถาบันวิจัยโลกศาสตร์และการป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติ (NIED) ของญี่ปุ่นได้คำนวณค่าความเร่งสูงสุดของพื้นดินไว้ที่ 2.99 จี (29.33 ./วินาที²)  ส่วนค่าที่บันทึกได้มากที่สุดในญี่ปุ่นอยู่ที่ 2.7 จี ในจังหวัดมิยะงิ ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว 75 กิโลเมตร ส่วนค่าที่อ่านได้สูงสุดในพื้นที่มหานครโตเกียวอยู่ที่ 0.16 จี

ผลกระทบทางธรณีฟิสิกส์

แผ่นดินไหวดังกล่าวได้ขยับส่วนทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นไปราว 2.4 เมตรเข้าใกล้ทวีปอเมริกาเหนือ ทำให้ผืนทวีปของญี่ปุ่นบางส่วน "กว้างขึ้นกว่าแต่ก่อน" ส่วนของญี่ปุ่นที่อยู่ใกล้จุดเหนือศูนย์กลางแผ่นดินไหวมากที่สุดขยับไปมากที่สุด สไตน์ระบุว่าแนวชายฝั่งยาว 400 กิโลเมตรลดระดับลงตามแนวดิ่ง 0.6 เมตร ทำให้คลื่นสึนามิเคลื่อนที่พัดเข้าสู่พื้นดินได้ไกลขึ้นและเร็วขึ้น   การประเมินขั้นต้นเสนอว่า แผ่นแปซิฟิกอาจเลื่อนไปทางตะวันตกมากที่สุด 20 เมตร การประเมินขั้นต้นอีกแหล่งหนึ่ง ชี้ว่าการเลื่อนไหลอาจเป็นระยะทางมากถึง 40 เมตร มีความยาวระหว่าง 300 ถึง 400 กิโลเมตร และกว้าง 100 กิโลเมตร หากข้อมูลดังกล่าวได้รับการพิสูจน์ยืนยัน แผ่นดินไหวครั้งนี้อาจเป็นหนึ่งในการเคลื่อนที่ของรอยเลื่อนที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นจากแผ่นดินไหว วันที่ 6 เมษายน ยามฝั่งญี่ปุ่นระบุว่า แผ่นดินไหวดังกล่าวเลื่อนก้นทะเลใกล้กับจุดเหนือศูนย์กลางแผ่นดินไหว 24 เมตร และยกระดับก้นทะเลนอกชายฝั่งจังหวัดมิยะงิสูงขึ้น 3 เมตร
แผ่นดินไหวดังกล่าวได้ย้ายตำแหน่งแกนโลกไป โดยประเมินไว้ระหว่าง 10 ถึง 25 เซนติเมตร การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโลกเล็กน้อยหลายอย่าง รวมทั้งความยาวของวันและความเอียงของโลก อัตราเร็วในการหมุนรอบตัวเองของโลกเพิ่มขึ้น ทำให้วันหนึ่งสั้นลง 1.8 ไมโครวินาทีเนื่องจากการกระจายมวลโลกใหม่ การเคลื่อนย้ายแกนเกิดขึ้นจากการกระจายมวลบนพื้นผิวของโลกใหม่ ซึ่งเปลี่ยนแปลงโมเมนต์ความเฉื่อยของโลก จากผลกระทบในการอนุรักษ์โมเมนตัมเชิงมุม การเปลี่ยนแปลงความเฉื่อยดังกล่าวทำให้อัตราการหมุนของโลกเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไว้ สำหรับแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงระดับนี้
  

  

ปรากฎการณ์ดินเหลว (soil liquefaction) ในโกโต กรุงโตเกียว
ปรากฎการณ์ดินเหลว (soil liquefaction) ปรากฎชัดเจนในพื้นดินที่เกิดจากการถมทะเล (reclaimed land) รอบกรุงโตเกียว โดยเฉพาะในอุรายาสุนครชิบะ ฟุนาบาชิ นาราชิโนะ (จังหวัดชิบะ) และในเขตโกโต เอโดงาวา มินาโตะ ชูโอะ และโอตะในกรุงโตเกียว มีบ้านหรืออาคารถูกทำลายอย่างน้อย 30 หลัง และอาคารอื่นอีก 1,046 หลังได้รับความเสียหายในระดับต่าง กัน ท่าอากาศยานฮาเนดะที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งส่วนใหญ่สร้างบนพื้นที่ดินเกิดจากการถมทะเลนั้น ไม่ได้รับความเสียหาย โอดาอิบะก็เผชิญกับปรากฎการณ์ดังกลาวเช่นกัน แต่ความเสียหายเล็กน้อยมาก
ภูเขาไฟชินโมอิเดเกะ ภูเขาไฟบนเกาะคิวชู ปะทุขึ้นสองวันหลังจากแผ่นดินไหวดังกล่าว จากที่เคยปะทุขึ้นมาแล้วเมื่อเดือนมกราคม .. 2554 ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าการปะทุดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับแผ่นดินไหวหรือไม่ ในแอนตาร์กติกา คลื่นแผ่นดินไหวจากแผ่นดินไหวดังกล่าวได้รับรายงานว่าทำให้ธารน้ำแข็งวิลแลนส์ไถลไป 0.5 เมตร

อาฟเตอร์ช็อก

ญี่ปุ่นเกิดอาฟเตอร์ช็อกมากกว่า 1,200 ครั้งนับแต่เกิดแผ่นดินไหวขึ้น โดยมี 60 ครั้ง ที่มีความรุนแรงมากกว่า 6.0 แมกนิจูด และมีอย่างน้อย 3 ครั้ง ที่มีความรุนแรงมากกว่า 7.0 แมกนิจูด อาฟเตอร์ช็อกความรุนแรง 7.7 และ 7.9 แมกนิจูด เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม และครั้งที่สามเกิดขึ้นนอกชายฝั่งเมื่อวัที่ 7 เมษายน โดยความรุนแรงยังไม่สามารถตกลงกันได้ มีจุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหวอยู่ใต้ทะเล 66 กิโลเมตรนอกชายฝั่งเซ็นได สำนักงานอุตุนิยมวิทยากำหนดความรุนแรงไว้ที่ 7.4 MJMA ขณะที่สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐลดลงเหลือ 7.1 แมกนิจูด มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยสี่คน และกระแสไฟฟ้าถูกตัดขาดเป็นบริเวณกว้างทางตอนเหนือของญี่ปุ่น รวมทั้งการสูญเสียพลังงานภายนอกไปยังโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฮิงาชิโดริ และโรงงานแปรสภาพเชื้อเพลิงโรกกาโช  สี่วันให้หลัง วันที่ 11 เมษายน เกิดอาฟเตอร์ช็อกความรุนแรง 6.6 แมกนิจูดถล่มฟุกุชิมะอีกครั้งหนึ่ง ทำให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติมและมีผู้เสียชีวิตสามคน
จนถึงอาฟเตอร์ช็อกวันที่ 3 มิถุนายน .. 2554 ที่ยังดำเนินไป แผนที่ที่อัปเดตเป็นประจำแสดงอาฟเตอร์ช็อกที่มีความรุนแรงมากกว่า 4.5 แมกนิจูด ทั้งใกล้หรือนอกชายฝั่งตะวันออกของฮนชูในเจ็ดวันหลังสุด  แสดงให้เห็นว่าเกิดขึ้น 20 ครั้ง

คลื่นสึนามิ


แผนที่พลังงานของคลื่นสึนามิจาก NOAA
แผ่นดินไหวดังกล่าวซึ่งเกิดจากการนูนขึ้น 5 ถึง 8 เมตร บนก้นทะเลยาว 180 กิโลเมตร ห่างจากชายฝั่งตะวันออกของโทโฮะกุ 60 กิโลเมตร   ทำให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงตามแนวชายฝั่งแปซิฟิกของหมู่เกาะตอนเหนือของญี่ปุ่น และส่งผลให้เกิดความสูญเสียชีวิตนับหลายพัน และหลายเมืองถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง คลื่นสีนามิยังได้แพร่ขยายไปทั่วมหาสมุทรแปซิฟิก และมีการออกคำเตือนและคำสั่งอพยพในหลายประเทศที่ติดมหาสมุทรแปซิฟิก รวมทั้งตลิดชายฝั่งแปซิฟิกของอเมริกาเหนือและใต้ ตั้งแต่อะแลสกาไปจนถึงชิลี  อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสึนามิจะเดินทางไปถึงหลายประเทศ แต่ก็มีผลกระทบค่อนข้างน้อย ชายฝั่งชิลีส่วนที่ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งอยู่ห่างจากญี่ปุ่นมากที่สุด (ราว 17,000 กิโลเมตร) ส่วนระยะทางบนโลกที่ไกลที่สุดที่เป็นไปได้อยู่ที่ครึ่งเส้นรอบวง ราว 20,000 กิโลเมตร) ก็ยังได้รับผลกระทบเป็นคลื่นสึนามิสูง 2 เมตร คลื่นสึนามิสูง 38.9 เมตรถูกประเมินที่คาบสมุทรโอโมเอะ เมืองมิยาโกะ จังหวัดอิวะเตะ
 แผนที่คลื่นสึนามิสูงสุดที่บันทึกได้ตามพื้นที่ต่าง ในญี่ปุ่น สีแดงเป็นคลื่นที่รุนแรงที่สุด


ประกาศเตือนภัยสึนามิออกโดยสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นจัดสึนามิดังกล่าวในระดับสูงสุดตามมาตราของตน โดยจัดเป็น "สึนามิขนาดใหญ่" ซึ่งมีความสูงอย่างน้อย 3 เมตร การคาดการณ์ความสูงที่แท้จริงนั้นแตกต่างกันไป โดยมีการคาดการณ์สูงสุดในจังหวัดมิยะงิที่ 6 เมตร คลื่นสึนามิพัดเข้าท่วมพื้นที่ประมาณ 561 ตารางกิโลเมตรในญี่ปุ่นแผ่นดินไหวเกิดขึ้นเมื่อเวลา 14.46 . ตามเวลามาตรฐานญี่ปุ่น ห่างจากแนวชายฝั่งญี่ปุ่นที่ใกล้ที่สุดไปราว 67 กิโลเมตร และตอนแรกมีการประเมินว่าคลื่นสึนามิจะใช้เวลาเดินทางมายังพื้นที่แรกที่ได้รับผลกระทบระหว่าง 10 ถึง 30 นาที ตามด้วยพื้นที่เหนือขึ้นไปและใต้ลงมาตามภูมิศาสตร์ของแนวชายฝั่ง หลังเกิดแผ่นดินไหวขึ้นหนึ่งชั่วโมงเล็กน้อย เมื่อเวลา 15.55 . ตามเวลามาตรฐานญี่ปุ่น คลื่นสึนามิได้รับรายงานว่าพัดเข้าท่วมท่าอากาศยานเซนได ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่งจังหวัดมิยะงิโดยคลื่นได้พัดพาเอารถยนต์และเครื่องบิน ตลอดจนท่วมอาคารเป็นจำนวนมากขณะที่คลื่นถาโถมเข้าไปในแผ่นดิน นอกจากนี้ ยังมีรายงานคลื่นสึนามิความสูง 4 เมตรเข้าถล่มจังหวัดอิวะเตะ เขตวาคาบายาชิในเซ็นไดยังได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักเป็นพิเศษแหล่งอพยพคลื่นสึนามิที่กำหนดไว้อย่างน้อย 101 แห่งได้รับความเสียหายจากคลื่นเช่นเดียวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย .. 2547 และเหตุการณ์พายุไซโคลนนาร์กิส ความเสียหายจากคลื่นที่พัดเข้าถล่ม แม้ว่าจะกินพื้นที่จำกัดเฉพาะในท้องถิ่นกว่ามาก แต่ก็ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินมากกว่าตัวแผ่นดินไหวเอง มีรายงานว่า เมืองทั้งเมืองถูกทำลายจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิในญี่ปุ่น รวมทั้งเมืองมินามิซานริกุ ซึ่งมีผู้สูญหายกว่า 9,500 คน ร่างของผู้เสียชีวิตหนึ่งพันคนถูกเก็บกู้ในเมืองเมื่อวันที่ 14 มีนาคม .. 2554  ในบรรดาปัจจัยที่ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจากคลื่นสึนามิสูงนั้น ข้อหนึ่งเป็นเพราะแรงกระแทกของน้ำขนาดใหญ่ที่ไม่คาดฝัน และกำแพงสึนามิที่ตั้งอยู่ในนครหลายแห่งที่ได้รับผลกระทบ ป้องกันได้เฉพาะคลื่นสึนามิที่ขนาดเล็กกว่านี้มาก นอกจากนี้ หลายคนที่ถูกคลื่นสึนามิพัดพาไปคิดว่าพวกตนอยู่บนที่สูงพอจะปลอดภัยแล้วพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองคุจิและพื้นที่ส่วนใต้ของโอฟุนาโตะรวมทั้งบริเวณท่าเรือเกือบถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ เมืองที่เกือบถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิงคือ ริคุเซนตาคาตะ ซึ่งมีรายงานว่าคลื่นสึนามิมีความสูงเท่ากับตึกสามชั้น    เมืองอื่นที่ได้รับรายงานว่าถูกทำลายหรือได้รับความเสียหายอย่างหนักจากคลื่นสึนามิ ได้แก่ โอนากาวะ, นะโตะริ, โอตสึชิ และยะมะดะ (จังหวัดอิวะเตะ)นะมิเอะ โซมะ และมินะมิโซมะ (จังหวัดฟุกุชิมะ) และโอนะกะวะ นะโตะริ อิชิโนะมะกิ และเคเซนนุมะ (จังหวัดมิยะงิ)  ผลกระทบรุนแรงที่สุดจาดคลื่นสึนามิเกิดขึ้นตามแนวชายฝั่งยาว 670 กิโลเมตรตั้งแต่เอริมะทางเหนือไปจนถึงโออาราอิทางใต้ ซึ่งการทำลายล้างส่วนใหญ่ในพื้นที่เกิดขึ้นในชั่วโมงหลังจากเกิดแผ่นดินไหว   คลื่นสึนามิยังได้พัดพาเอาสะพานเพียงหนึ่งเดียวที่เชื่อมต่อกับมิยาโตจิมะ จังหวัดมิยะงิ ทำให้ประชากร 900 คนบนเกาะขาดการติดต่อทางบกกับแผ่นดินใหญ่คลื่นสึนามิสูง 2 เมตรพัดถล่มจังหวัดชิบะ ราวสองชั่วโมงครึ่งให้หลังเหตุแผ่นดินไหว ก่อให้เกิดความเสียหายแย่างหนักต่อนครอย่าง อาซาฮี13 มีนาคม .. 2554 สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นเผยแพร่รายละเอียดการสังเกตคลื่นสึนามิที่บันทึกไว้รอบแนวชายฝั่งของญี่ปุ่นหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว การอ่านค่าเหล่านี้ รวมทั้งค่าสึนามิสูงสุด (tsunami maximum reading) สูงกว่า 3 เมตร ค่าที่ได้นั้นเป็นข้อมูลมาจากสถานีบันทึกที่ดำเนินการโดยสำนักงานอุตุนิยมวิทยารอบแนวชายฝั่งญี่ปุ่น หลายพื้นที่ยังได้รับผลกระทบจากคลื่นความสูง 1 ถึง 3 เมตร และประกาศสำนักงานอุตุนิยมวิทยายังมีคำเตือนว่า "ตามแนวชายฝั่งบางส่วน คลื่นสึนามิอาจสูงกว่าที่สังเกตจากจุดสังเกต" การบันทึกคลื่นสึนามิสูงสุดแรกสุดนั้นอยู่ระหว่าง 15.12 ถึง 15.21 . ระหว่าง 26 ถึง 35 นาทีหลังเกิดแผ่นดินไหว ประกาศยังรวมรายละเอียดการสังเกตคลื่นสึนามิเบื้องต้น เช่นเดียวกับแผนที่รายละเอียดมากกว่าของแนวชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิ23 มีนาคม .. 2554 สถาบันวิจัยท่าเรือและท่าอากาศยานรายงานความสูงของสึนามิโดยเยือนจุดท่าเรือหรือโดยการส่งข้อมูลทางไกลจากนอกชายฝั่ง โดยค่าที่วัดได้สูงกว่า 10 เมตร ได้แก่ พื้นที่ท่าเรือโอฟุนาโตะ 24 เมตร, ท่าเรือประมงโอนางาวะ 15 เมตร และพื้นที่ท่าอากาศยานเซ็นได 12 เมตรทีมวิจัยร่วมจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโยโกฮามา และมหาวิทยาลัยโตเกียว ยังรายงานว่าสึนามิที่อ่าวเรียวริ โอฟุนาโตะ มีความสูงประมาณ 30 เมตร พวกเขาพบอุปกรณ์ประมงกระจัดกระจายอยู่บนผาสูงเหนืออ่าว ที่ทาโร อิวาเตะ นักวิจัยมหาวิทยาลัยโตเกียวรายงานว่า ความสูงของคลื่นสึนามิที่ประเมินไว้อยู่ที่ 37.9 เมตร ถึงไหลเขาที่อยู่ห่างจากแนวชายฝั่งประมาณ 200 เมตร  เช่นเดียวกัน ที่ไหล่เขาของภูเขาใกล้เคียง 400 เมตร จากท่าเรือประมงอาเนโยชิ (姉吉漁港) บนคาบสมุทรโอโมเอะ (重茂半島) ในมิยาโกะ อิวาเตะ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ทางทะเลและเทคโนโลยีโตเกียว พบว่า คลื่นสึนามิที่ประเมินไว้สูงถึง 38.9 เมตร ความสูงระดับนี้คาดว่าน่าจะเป็นประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น จนถึงวันที่รายงาน ซึ่งเกิน 38.2 เมตร จากแผ่นดินไหวเมจิ-ซานริกุ .. 2439
การศึกษาของรัฐบาลญี่ปุ่นพบว่า มีประชากรเพียง 42% ในพื้นที่ชายฝั่งจังหวัดอิวาเตะ มิยางิ และฟุกุชิมะใส่ใจต่อคำเตือนคลื่นสึนามิทันทีหลังแผ่นดินไหวและมุ่งหน้าขึ้นที่สูง ในบรรดาผู้ที่พยายามอพยพหลังทราบคำเตือนดังกล่าว มีเพียง 5% เท่านั้นที่ถูกพัดพาไปโดยคลื่นสึนามิ และในบรรดาผู้ที่ไม่ใส่ใจต่อคำเตือน มี 49%
ถูกพัดพาไปกับคลื่น


ประเทศอื่นรอบมหาสมุทรแปซิฟิก


ไม่นานหลังเกิดแผ่นดินไหว ศูนย์เตือนภัยสึนามิแปซิฟิกในฮาวายเฝ้าระวังสึนามิและประกาศสำหรับตำแหน่งในแปซิฟิก เมื่อเวลา 7.30 . UTC ศูนย์เตือนภัยฯ ได้ออกประกาศเตือนภัยอย่างกว้างขวางซึ่งครอบคลุมทั่วมหาสมุทรแปซิฟิก รัสเซียสั่งอพยพประชากร 11,000 คนจากพื้นที่ชายฝั่งของหมู่เกาะคิวริว ศูนย์เตือนภัยสึนามิชายฝั่งตะวันตกและอะแลสกาของสหรัฐอเมริกาได้ออกประกาศเตือนภัยสึนามิสำหรับพื้นที่ชายฝั่งของรัฐแคลิฟอร์เนียส่วนใหญ่ รัฐออริกอนทั้งหมด และส่วนตะวันตกของอะแลสกา และรายงานสึนามิครอบคลุมแนวชายฝั่งแปซิฟิกส่วนใหญ่ของอะแลสกา รัฐวอชิงตันและบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ในรัฐแคลิฟอร์เนียและโอเรกอน คลื่นสึนามิสูงถึง 2.4 เมตรเข้าถล่มบางพื้นที่ ทำความเสียหายแก่อู่เรือและท่าเรือ ในเคอร์รีเคาน์ตี (Curry County) รัฐโอเรกอน เกิดความเสียหาย 7 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ รวมทั้งพื้นที่อู่เรือ 3,600 ฟุตที่ท่าเรือบรุกกิงส์ (Brookings) เคานต์ตีได้รับเงินช่วยเหลือฉุกเฉิน 1 ล้านดอลล่าร์สหรัฐจากองค์กรเพื่อการบริหารจัดการสถานการ์ณฉุกเฉินแห่งรัฐบาลกลาง (FEMA) คลื่นสึนามิสูง 1 พัดเข้าถล่มแวนคูเวอร์ในประเทศแคนาดา ทำให้มีการอพยพบางส่วน ทำให้เรือถูกห้ามออกสู่ทะเลรอบเกาะเป็นเวลา 12 ชั่วโมงหลังคลื่นกระทบฝั่ง ทิ้งให้ชาวเกาะหลายคนติดอยู่ในพื้นที่ปราศจากวิธีออกไปทำงาน
ในฟิลิปปินส์ คลื่นสูงถึง 0.5 เมตรพัดเข้าถล่มชายฝั่งตะวันออกของประเทศ บ้านบางหลังตามชายฝั่งจายาปุระ (Jayapura) ประเทศอินโดนีเซีย ถูกทำลาย   ทางการในวีวัก (Wewak) เซปิกตะวันออก (East Sepik) ปาปัวนิวกินี อพยพผู้ป่วย 100 คนจากโรงพยาบาลของนครแห่งนั้น ก่อนที่จะถูกคลื่นพัดกระทบ ก่อให้เกิดความเสียหายประเมินไว้ 4 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ รัฐฮาวายประมาณความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะอย่างเดียวอยู่ที่ 3 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยมีความเสียหายต่อทรัพย์สินของเอกชนอีกหลายล้านดอลล่าร์สหรัฐ รวมทั้ง โรงแรมรีสอร์ต โดยประเมินความเสียหายไว้หลายสิบล้านดอลล่าร์ มีรายงานว่าคลื่นสูง 1.5 เมตรจมเวิ้งน้ำปะการังและเกาะสปิต (Spit Island) ของมิดเวย์อะทอลล์ ทำให้นกทะเลที่ทำรังอยู่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งชาติมิดเวย์อะทอลล์ตายกว่า 110,000 ตัวสำหรับประเทศแปซิฟิกใต้อื่นอีกบางประเทศ รวมทั้งตองกาและนิวซีแลนด์ และดินแดนอเมริกันซามัวและกวมของสหรัฐ เผชิญกับคลื่นขนาดใหญ่กว่าปกติ แต่ไม่มีรายงานความเสียหายมากนัก อย่างไรก็ตาม ถนนบางสายในกวมถูกปิดและประชาชนถูกอพยพจากพื้นที่ลุ่มต่ำ
ตามชายฝั่งแปซิฟิกของเม็กซิโกและอเมริกาใต้ มีรายงานคลื่นสึนามิพัดถล่ม แต่ในหลายพื้นที่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายเพียงเล็กน้อยไปจนถึงไม่เกิดผลกระทบเลย มีรายงานว่าคลื่นสูง 1.5 เมตรพัดเข้าถล่มเปรู และบ้านเรือนมากกว่า 300 หลังคาเรือนได้รับความเสียหาย คลื่นสึนามิในชิลีเองก็มีขนาดใหญ่พอที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเรือนมากกว่า 200 หลังคาเรือนโดยมีคลื่นสูงถึง 3 เมตรในหมู่เกาะกาลาปาโกส มี 260 ครอบครัวได้รับความช่วยเหลือหลังคลื่นสูง 3 เมตรพัดเข้าถล่ม คลื่นดังกล่าวมาถึงยี่สิบชั่วโมงหลังแผ่นดินไหว แต่ก็หลังประกาศแจ้งเตือนภัยสึนามิถูกยกเลิกไปแล้ว สิ่งปลูกสร้างบนหมู่เกาะได้รับความเสียหายอย่างหนัก และมีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหนึ่งคน แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
คลื่นสึนามิดังกล่าวยังทำให้ภูเขาน้ำแข็งแตกออกจากหิ้งน้ำแข็งซูลส์เบอร์เกอร์ (Sulzberger Ice Shelf) ในแอนตาร์กติกา ห่างจากจุดเกิดแผ่นดินไหวออกไป 13,000 กิโลเมตร ภูเขาน้ำแข็งหลักวัดขนาดได้ 9.5 คูณ 6.5 กิโลเมตร หรือพื้นที่ประมาณเกาะแมนฮัตตัน และหนาประมาณ 80 เมตร รวมแล้วมีน้ำแข็งแตกออกไป 125 ตารางกิโลเมตร


ความเสียหายและผลกระทบ


ระดับและขอบเขตความเสียหายอันเกิดจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่เกิดตามมานั้นใหญ่หลวง โดยความเสียหายส่วนใหญ่นั้นเป็นผลจากคลื่นสึนามิ คลิปวีดิโอของเมืองที่ได้รับผลกระทบเลวร้ายที่สุดแสดงให้เห็นภาพของเมืองที่เหลือเพียงเศษซาก ซึ่งแทบจะไม่เหลือส่วนใดของเมืองเลยที่ยังมีสิ่งปลูกสร้างเหลืออยู่  การประเมินขอบเขตมูลค่าความเสียหายอยู่ในระดับหลายหมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ ภาพถ่ายดาวเทียมเปรียบเทียบก่อนและหลังในพื้นที่ที่ถูกทำลายล้างนั้นแสดงให้เห็นความเสียหายอย่างมโหฬารที่เกิดในหลายพื้นที่ แม้ญี่ปุ่นจะลงทุนเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลล่าร์สหรัฐไปกับกำแพงกั้นน้ำต่อต้านสึนามิ ซึ่งลากผ่านอย่างน้อย 40% ของแนวชายฝั่งทั้งหมด 34,751 กิโลเมตร และมีความสูงถึง 12 เมตรก็ตาม แต่คลื่นสึนามิก็เพียงทะลักข้ามยอดกำแพงกั้นน้ำบางส่วน และทำให้กำแพงบางแห่งพังทลายสำนักงานตำรวจแห่งชาติของญี่ปุ่น แถลงเมื่อวันที่ 3 เมษายน .. 2554 ว่า มีอาคาร 45,7000 หลังถูกทำลาย และอีก 144,300 หลังได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ อาคารที่ได้รับความเสียหายนั้น ประกอบด้วย 29,500 หลังในจังหวัดมิยะงิ 12,500 หลังในจังหวัดอิวะเตะ และ 2,400 หลังในจังหวัดฟุกุชิมะโรงพยาบาลขนาดใหญ่กว่า 20 เตียง 300 แห่งในโทโฮะกุได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติดังกล่าว โดยมี 11 โรงถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิก่อให้เกิดกองวัสดุก่อสร้างและซากปรักหักพังที่ประเมินไว้ 24-25 ล้านตันในญี่ปุ่นมีการประเมินว่ารถยนต์และรถบรรทุกกว่า 230,000 คน ได้รับความเสียหายหรือถูกทำลายไปในภัยพิบัติ จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม .. 2554 ชาวจังหวัดอิวะเตะ มิยะงิ และฟุกุชิมะ ได้ร้องขอจดทะเบียบยานพาหนะออกจากระบบ (deregistration) กว่า 15,000 คันหรือลำ หมายความว่า เจ้าของยานพาหนะเหล่านี้ทราบว่าซ่อมแซมไม่ได้หรือเรือไม่อาจกู้ได้



ความสูญเสีย




ในบรรดาศพ 13,135 ศพที่ถูกเก็บกู้จนถึงวันที่ 11 เมษายน .. 2554 กว่า 12,143 ศพ หรือกว่า 92.5% เสียชีวิตเพราะจมน้ำ เหยื่ออายุ 60 ปีหรือมากกว่า คิดเป็น 65.2% ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด และ 24% ของเหยื่อทั้งหมดอยู่ในวัยเจ็ดสิบ จนถึงวันที่ 10 เมษายน .. 2554 กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการของญี่ปุ่น แถลงว่า กระทรวงฯ ทราบว่ามีเด็กอย่างน้อย 82 คนกลายเป็นเด็กกำพร้าจากภัยพิบัติดังกล่าว แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ จนถึงวันที่ 28 เมษายน .. 2554 คร่าชีวิตนักเรียนชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายไป 378 คน และมีผู้สูญหายอีก 158 คน ด้านกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นรายงานว่า มีชาวต่างชาติเสียชีวิตสิบเก้าคน จนถึงวันที่ 27 พฤษภาคม .. 2554 สมาชิกกองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินญี่ปุ่นเสียชีวิตไปสามนาย ขณะปฏิบัติภารกิจบรรเทาสาธารณภัยในโทโฮะกุคลื่นสึนามิยังมีรายงานว่าทำให้มีผู้เสียชีวิตอีกหลายศพนอกประเทศญี่ปุ่น ชายคนหนึ่งเสียชีวิตในจายาปุระ ปาปัว อินโดนีเซีย หลังถูกคลื่นกวาดลงทะเลไป  ชายซึ่งกล่าวกันว่าพยายามถ่ายภาพคลื่นสึนามิที่กำลังถาโถมเข้ามาที่ปากแม่น้ำแคลมัธ (Klamath) ทางใต้ของนครครีเซนท์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ถูกกวาดลงทะเลไป ร่างไร้ชีวิตของเขาถูกพบเมื่อวันที่ 2 เมษายน ตามหาดโอเชียนในฟอร์ทสตีเฟนส์ รัฐออริกอน ห่างไปทางเหนือ 530 กิโลเมตร


โรงไฟฟ้านิวเคลียร์



โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ ฟุกุชิมะไดนิ โอะนะงะวะ และโทไก ซึ่งประกอบด้วยเตาปฏิกรณ์ทั้งสิ้น 11 เตา ถูกปิดลงอัตโนมัติหลังแผ่นดินไหว ส่วนฮิกาชิโกริ ซึ่งตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือเช่นกัน ปิดตัวลงไปแล้วก่อนหน้านี้เพื่อตรวจสอบตามกำหนด ระบบทำความเย็นนั้นจำเป็นเพื่อกำจัดความร้อนจากการสลายหลังเครื่องปฏิกรณ์ถูกปิดลง และเพื่อรักษาบ่อเก็บเชื้อเพลิงใช้แล้ว กระบวนการหล่อเย็นสำรองได้พลังงานจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลฉุกเฉินที่โรงไฟฟ้า และที่โรงงานแปรสภาพเชื้อเพลิงใช้แล้วร็อคคาโช (Rokkasho) ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิและไดนิ คลื่นสึนามิถาโถมข้ามยอดกำแพงกั้นน้ำและทำลายระบบพลังงานดีเซลสำรอง ทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงที่ฟุกุชิมะไดอิชิ รวมทั้งเกิดเหตุระเบิดขนาดใหญ่ขึ้นสามครั้งและการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี มีผู้ถูกอพยพไปมากกว่า 200,000 คน  หลังจากความพยายามลดอุณหภูมิไม่ประสบผลมาเกือบสัปดาห์ จึงมีการใช้รถดับเพลิงและเฮลิคอปเตอร์ในการเทน้ำเพื่อลดอุณหภูมิ เมื่อวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ย่างเข้าสู่เดือนที่สอง ผู้เชี่ยวชาญยอมรับว่าฟุกุชิมะไดอิชิมิใช่อุบัติเหตุนิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุด แต่ยุ่งยากซับซ้อนที่สุด การวิเคราะห์ภายหลังบ่งชี้ว่าเครื่องปฏิกรณ์สามเครื่อง (หน่วยที่ 1, 2 และ 3) หลอมละลายและน้ำหล่อเย็นยังคงรั่วไหล จนถึงฤดูร้อน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม, หัวหน้าสำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์และอุตสาหกรรม และหัวหน้าสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน ต้องพ้นจากตำแหน่งไป



ญี่ปุ่นประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหลังระบบหล่อเย็นล้มเหลวที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ ส่งผลให้ผู้อยู่อาศัยใกล้เคียงถูกอพยพไป เจ้าหน้าที่ทางการจากสำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์และอุตสาหกรรมญี่ปุ่นรายงานระดับกัมมันตภาพรังสีในโรงไฟฟ้าสูงขึ้นมากกว่าปกติถึง 1,000 เท่า และระดับกัมมันตภาพรังสีนอกโรงไฟฟ้าสูงถึง 8 เท่าจากปกติ ภายหลัง ยังมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีกที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดนิที่อยู่ห่างออกไป 11 กิโลเมตรทางใต้ ซึ่งทำให้เครื่องปฏิกรณ์ที่ประสบปัญหาทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็นหกเครื่องมีรายงานว่า ไอโอดีนกัมมันตภาพรังสีถูกตรวจจับได้ในน้ำก๊อกในฟุกุชิมะ โตชิงิ กึนมะ โตเกียว ชิบะ ไซตามะ และนิอิงาตะ และซีเซียมกัมมันตภาพรังสีในน้ำก๊อกในฟุกุชิมะ โตชิงิ และกึนมะ ซีเซียม ไอโอดีนและสทรอนเตียมกัมมันตภาพรังสียังได้ถูกพบในดินบางพื้นที่ของฟุกุชิมะ นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นต้องแทนที่ดินที่ปนเปื้อน ผลิตภัณฑ์อาหารยังถูกพบว่าปนเปื้อนจากสารกัมมันตภาพรังสีในหลายพื้นที่ของญี่ปุ่น วันที่ 5 เมษายน .. 2554 รัฐบาลจังหวัดอิราบากิห้ามการประมงปลาแซนด์ เลซ (sand lace) หลังพบว่าสปีชีส์ดังกล่าวถูกปนเปื้อนโดยซีเซียมกัมมันตภาพรังสีสูงกว่าระดับที่กฎหมายกำหนดจนถึงปลายเดือนกรกฎาคม เนื้อวัวปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีถูกพบวางขายอยู่ที่ตลาดในกรุงโตเกียวเกิดไฟไหม้ขึ้นในส่วนกังหันของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โอนางาวะหลังแผ่นดินไหวโดยเกิดขึ้นในอาคารอันเป็นที่ตั้งของกังหันที่ตั้งอยู่แยกจากเครื่องปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าและถูกดับไปหลังจากนั้นไม่นานโรงไฟฟ้าดังกล่าวถูกปิดลงเพื่อเป็นการระวังไว้ก่อนวันที่ 13 มีนาคม มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินระดับต่ำสุด เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าโอนางาวะ เมื่อค่ากัมมันตภาพรังสีชั่วคราวเกินระดับที่ได้รับอนุญาตในพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้า บริษัทผลิตไฟฟ้าโตเกียวแลถงว่า นี่อาจเป็นเพราะกัมมันตภาพรังสีจากอุบัติเหตุนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ แต่ไม่ใช่จากโรงไฟฟ้าโอนางาวะเองอาฟเตอร์ช็อกเมื่อวันที่ 7 เมษายน ทำให้โรงงานแปรสภาพเชื้อเพลิงใช้แล้วร็อคคาโชและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฮิงาชิโดริสูญเสียพลังงานภายนอก แต่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองยังทำงานอยู่ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์โอนางาวะเสียสายไฟฟ้าภายนอก 3 จาก 4 เส้น และเสียระบบหล่อเย็นเป็นเวลานานถึง 80 นาที มีน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมที่โอนางาวะเล็กน้อยเครื่องปฏิกรณ์หมายเลข 2 ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์โตไคถูกปิดลงอัตโนมัติ วันที่ 14 มีนาคม มีรรายงานว่าปั๊มระบบหล่อเย็นของเครื่องปฏิรณ์ดังกล่าวหยุดทำงาน อย่างไรก็ตาม บริษัทพลังงานอะตอมญี่ปุ่น แถลงว่า ยังมีปั๊มระบบประปาที่สองที่ยังรักษาระบบหล่อเย็นต่อไป แต่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลสองในสามเครื่องที่ให้พลังงานแก่ระบบหล่อเย็นใช้การไม่ได้ 

ไฟฟ้า

                                      ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสายส่งกระแสไฟฟ้า

ตามข้อมูลของโทโฮะกุอิเล็กทริกพาวเวอร์ (TEP) มีบ้านเรือนราว 4.4 ล้านหลังคาเรือนทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้   เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์และเครื่องปฏิกรณ์ไฟฟ้าทั่วไปหลายเครื่องไม่สามารถใช้การได้หลังจากเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งลดกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าของบริษัทผลิตไฟฟ้าโตเกียว (TEPCO) ลง 21 จิกะวัตต์ มาตรการตัดกระแสไฟฟ้า (rolling blackout) เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม จากการขาดแคลนพลังงานซึ่งเป็นผลมาจากแผ่นดินไหว TEPCO ซึ่งปกติแล้ว ผลิตไฟฟ้าอย่างน้อย 40 กิกะวัตต์ ประกาศว่าขณะนี้ทางบริษัทสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียงราว 30 กิกะวัตต์ ที่เป็นเช่นนี้เพราะไฟฟ้าร้อยละ 40 ที่ใช้ในพื้นที่เขตมหานครโตเกียวปัจจุบันได้รับไฟฟ้าที่ผลิตจากเครื่องปฏิกรณ์ในจังหวัดนิอิงะตะและฟุกุชิมะ เครื่องปฏิกรณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิและฟุกุชิมะไดนิถูกปิดตัวลงอัตโนมัติหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวขึ้นครั้งแรก และได้รับความเสียหายอย่างหนักจากเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นตามมา คาดว่าจะมีมาตรการตัดกระแสไฟฟ้านานสามชั่วโมงถึงสิ้นเดือนเมษายนและจะส่งผลกระทบถึงจังหวัดโตเกียว คะนะงะวะ ชิซุโอกะ ยามานาชิ ชิบา อิราบากิ ไซตามะ โตชิงิ และกุนมะ การเต็มใจลดการใช้กระแสไฟฟ้าโดยผู้บริโภคในเขตคันโตช่วยลดความถี่และระยะที่เกิดไฟฟ้าดับจากที่เคยทำนายไว้   การลดการใช้ไฟฟ้าโดยสมัครใจของผู้บริโภคในพื้นที่คันโตช่วยลดความถี่และระยะเวลาของการตัดกระแสไฟฟ้าที่คาดการณ์ไว้ จนถึงวันที่ 21 มีนาคม .. 2554 จำนวนครัวเรือนทางตอนเหนือของญี่ปุ่นที่ไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ลดลงเหลือ 242,927 ครัวเรือนTEP ปัจจุบันไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มเติมให้กับเขตคันโตได้ เพราะเครื่องปฏิกรณ์ของ TEP เองก็ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวด้วยเช่นกัน คันไซอิเล็กทริกพาวเวอร์คอมปานี (Kepco) ไม่สามารถแบ่งกระแสไฟฟ้าให้ได้ เพราะระบบของบริษัททำงานอยู่ที่ 60 เฮิร์ตซ์ ขณะที่ของ TEPCO และ TEP ทำงานที่ 50 เฮิร์ตซ์ ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภคในยุคเริ่มแรกในคริสต์ทศวรรษ 1880 ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นไม่มีสายส่งไฟฟ้าทั่วประเทศที่เป็นเอกภาพ สถานีย่อยสองแห่ง ในชิซุโอกะและนางาโนะ สามารถแปลงความถี่และส่งกระแสไฟฟ้าจากคันไซไปยังคันโตและโทโฮะกุ แต่มีกำลังสูงสุดจำกัดอยู่ที่ 1 กิกะวัตต์ และจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเครื่องปฏิกรณ์หลายเครื่องนั้น อาจต้องใช้เวลาหลายปีจึงจะฟื้นฟูระดับการผลิตกระแสไฟฟ้าทางตะวันออกของญี่ปุ่นให้กลับคืนสู่ระดับก่อนเกิดแผ่นดินไหวในควมพยายามจะช่วยบรรเทาการขาดแคลนพลังงาน ผู้ผลิตเหล็กกล้าสามรายในภูมิภาคคันโตได้สนับสนุนกระแสไฟฟ้าที่ผลิตโดยโรงไฟฟ้าแบบเก่าภายในองค์กร ให้แก่ TEPCO เพื่อแจกจ่ายต่อไปยังสาธารณชน ซูมิโตโมเมทัลอินดัสตรีส์ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 500 เมกะวัตต์ เจเอฟอีสตีล 400 เมกะวัตต์ และนิปปอนสตีล 500 เมกะวัตต์ผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ในคันโตและโทโฮะกุยังตกลงในเดือนพฤษภาคม .. 2554 โดยเปิดโรงงานเฉพาะวันเสาร์และวันอาทิตย์ และปิดวันพฤหัสบดีและวันศุกร์เพื่อช่วยบรรเทาการขาดแคลนไฟฟ้าระหว่างฤดูร้อน .. 2554
ส่วนกังหันลมพาณิชย์ของญี่ปุ่น ซึ่งรวมมีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้ามากกว่า 2,300 เมกะวัตต์ ไม่ได้รับผลกระทบใด จากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิเลย รวมทั้งทุ่งกังหันลมนอกชายฝั่งคามิสุ ซึ่งถูกสึนามิโดยตรง

บทสรุป
       จากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลครั้งนี้ทำให้ได้ทราบว่า แผ่นดินไหวเกิดได้หลายสาเหตุ  ซึ่งแต่ละครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวทำให้เราได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้ ทำให้ได้รับผลกระทบในด้านอุตสาหกรรม  ด้านการไฟฟ้า ด้านน้ำมัน   หรือ ด้านทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ  ซึ่งทั้งนี้เราจะเห็นได้ว่าการเกิดแผ่นดินไหวนั้น อาจจะทำให้เกิดสึนามิ ขึ้นอีกด้วย  เช่นการเกิดสึนามิขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นก่อให้เกิดความเสียหายมากมาย ทั้งชีวิตมนุษย์  และด้านทรัพย์สินต่างๆ  และทำให้ผู้คนล่มตายกันเป็นจำนวนมาก   การเกิดแผ่นดินไหวนั้นอาจจะเกิดได้ทั้งทางด้านธรรมชาติและด้วยน้ำมือของมนุษย์ เพราะฉะนั้นเราควรรักษาความเป็นธรรมชาติของมันไว้เพื่อที่จะให้มันรักษาคงสภาพเดิมและช่วยให้ไม่เกิดแผ่นดินไหวอีก

จัดทำโดย

นางสาวชนาพร   เฟื่องฟู เลขที่  7
นางสาวชลิตา  พวงมาลี  เลขที่ 8
นางสาวนฤมล  มณเฑียรทอง  เลขที่  11